เกี่ยวกับ ขนส่ง

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  

ราคาน้ำมัน  

หาระยะทาง  

ท่าเรือแหลมฉบัง  
อื่นๆ

กรมศุลกากร  

หนังสือพิมพ์  

ดูดวง  
 
 
Training,ISO14001 & SAFETY






 

     เข้ารับการอบรมเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 20 ธันวาคม 2552

ที่ บริษัท โตโยต้า (สำโรง) 

หัวข้อเรื่อง 

ตามมาตรฐาน ISO 14001 และ TIS 18001

หลักการและเหตุผล

ขณะที่โลกได้เจริญรุดหน้าด้านเทคโนโลยี สิ่งที่ตามมาก็คือ ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นกระแสความตื่นตัวทุกมุมโลก ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นที่มาของเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO ได้กำหนดมาตรฐานสากลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ ISO 14001 ขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั่วโลก นำไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในเรื่องของการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาการกีดกันทางการค้า ประเทศไทยโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้นำมาตรฐานดังกล่าวมาประกาศใช้เป็น มอก.14001 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยมีเนื้อหาเหมือนกันกับ ISO ซึ่งภาคอุตสาหกรรมสามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้ เพื่อสร้างหลักประกันว่าโรงงานมีการดูแลสิ่งแวดล้อมสอดคล้องตามเงื่อนไขทางการค้าโลก และมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าการส่งออกโดยตรงแล้ว ในส่วนของโรงงานเองก็จะได้มีระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวต่อไป นอกจากนี้ในเรื่องระบบการดูแลความปลอดภัยอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง ได้นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเงินทอง ที่สำคัญก็คือขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานที่ประเมินค่าไม่ได้ หลายประเทศได้ให้ความสำคัญเช่นเดียวกับประเทศไทยที่เริ่มมีความตื่นตัวนำมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก.18001 มาใช้เพื่อสร้างเกราะคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน
ด้วยความสำคัญของมาตรฐานดังกล่าว สำนักงานฯ จึงได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดระบบตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก.18001 ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน จึงได้จัดการสัมมนา เรื่อง"ระบบการจัดการกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของโรงงาน"ประจำปีงบประมาณ 2553 ขึ้น เพื่อขยายการรับรู้ และชี้ให้เห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่หน่วยงานจะได้รับจากการจัดทำมาตรฐาน ISO 14001 และ มอก.18001 รวมทั้งเผยแพร่โครงการความช่วยเหลือที่ สำนักงานฯ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือหน่วยงานในการจัดทำระบบดังกล่าว

วัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ และให้เห็นความสำคัญของมาตรฐาน ISO 14001 และ มอก.18001 ที่มีต่ออุตสาหกรรมและการส่งออก
  2. เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว
  3. เพื่อให้ทราบแนวทาง วิธีการ ในการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้
  4. เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ทราบแนวทางการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐและตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ
วิธีดำเนินการ
  1. จัดการบรรยายให้ความรู้เรื่องบทบาทความสำคัญและประโยชน์ของมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 และระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มอก.18001
  2. แนะนำแนวทางการพัฒนามาตรฐานระบบ ISO 14001 และ มอก.18001 ที่ สมอ.ให้การสนับสนุน
  3. เชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองแล้วมาบรรยายถึงมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางในการจัดทำระบบ ISO 14001 และ มอก.18001 แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนา
หัวข้อการสัมมนา
  1. ความรู้เบื้องต้นและประโยชน์ของ ISO 14001 และ มอก. 18001 ต่อภาคอุตสาหกรรม
  2. ขั้นตอนการจัดระบบตาม ISO 14001 และ มอก.18001
  3. การให้ความช่วยเหลือของ สมอ. ในการจัดทำ ISO 14001 และ มอก.18001
  4. มุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางการจัดทำระบบ ISO 14001 และ มอก.18001

รายละเอียดในการอบรม

ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) 

ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม มอก. 14001:2548 (ISO 14001: 2004) Environmental Management System (ISO 14001:2004) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรมีความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ โดยมุ่งเน้นในการป้องกันมลพิษ (Prevention of Pollution) และการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001:2004 มาใช้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรในการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและพลังงาน และการบำบัดมลพิษ

ทุกวันนี้ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นระบบซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับนานาชาติ โดยระบบมาตรฐาน ISO 14001 มีการกำหนดโครงสร้างขององค์กรและความรับผิดชอบที่มีความจำเป็นในการบริหารจัดการให้บรรลุตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัท นอกจากนี้ระบบ ISO 14001 จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับสูงและต้องมีการนำไปปฏิบัติในทุกระดับขององค์กร

จากข้อตกลงทางการค้าและภาษี (General Agreement on Tariffs and Trade - GATT) คาดหวังว่ามาตรฐาน ISO 14001 จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นประการแรกที่องค์กร/บริษัทต่างๆทั่วโลกต้องมีเพื่อประกอบการดำเนินธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแรงขับทางการตลาดจะเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดการยอมรับในมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานนี้

รูปแบบขั้นตอนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามระบบมาตรฐาน ISO 14001 
  1. การกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม ที่ถูกกำหนดหรือได้รับความเห็นชอบมาจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาหรือคำปฏิญาณขององค์กรที่จะดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น 

    การแต่งตั้งตัวแทนของฝ่ายบริหารด้านสิ่งแวดล้อม (environmental management Representative, EMR) และคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ด้านอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และด้านงบประมาณ เป็นต้น
     

  2. การวางแผนการจัดการ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการดำเนินงาน เนื่องจากลักษณะขององค์กรแต่ละประเภทที่นำเอาระบบมาตรฐาน ISO 14001 ไปใช้นั้นมีความแตกต่างกันทั้งรูปแบบโครงสร้างขององค์กร การบริหารจัดการ กระบวนการผลิต กระบวนการทำงาน วิธีการปฏิบัติงาน วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ทั้งนี้ การวางแผนการจัดการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรด้วย 
  3. การนำไปใช้และการปฏิบัติ ขั้นตอนนี้มักประสบปัญหาอยู่เสมอ เนื่องจากการจะนำระบบมาตรฐาน ISO 14001 หรือระบบมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าไปพัฒนาหรือปรับปรุงองค์กรจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม/ลักษณะการทำงานหรือกิจวัตรการทำงานที่ดำเนินงานอยู่เป็นประจำเป็นเวลานาน จึงมักจะเกิดปัญหาความขัดแย้งและเกิดการต่อต้านจากผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอ 

    วิธีการแก้ปัญหาคือใช้วิธีอบรมให้ความรู้ ทำความเข้าใจ และปลุกจิตสำนึกในด้านการป้องกันและรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ทำงานใกล้ตัว รวมทั้งอธิบายถึงข้อดีและข้อเสียจากการปฏิบัติงานที่ถูกต้องหรือผิดหลักวิชาการ ดังนั้นความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการดำเนินงาน และการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก ในการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขพฤติกรรม/หรือลักษณะการทำงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรได้รับการปรับปรุงและแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นไปตามระบบมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวพอสมควร 
     

  4. การตรวจสอบและแก้ไข เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากการนำระบบมาตรฐาน ISO 14001 ไปใช้หรือปฏิบัติในองค์กรไปแล้วเป็นระยะหนึ่งอย่างเหมาะสม การติดตามตรวจสอบที่สำคัญก็คือ การติดตามตรวจสอบภายในองค์กร (environmental internal audit) ต่อเนื่องเป็นประจำ โดยผลที่ได้จากการติดตามตรวจสอบจะถูกนำมาวิเคราะห์และนำเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรรับทราบและตัดสินใจในการกำหนดวิธีการป้องกันและแก้ไขในด้านต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หลายองค์กรมักจะเข้าใจผิดว่าการดำเนินงานตามขั้นตอนนี้เป็นการหาผู้กระทำผิดภายในองค์กร แต่แท้จริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้มาจากปัญหาเรื่องคนเป็นสำคัญ โดยอาจจะเกิดจากปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาจากกระบวนการวางแผนการผลิต การกำหนดวิธีการหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสมกับพื้นที่หรือสภาพงาน ฯลฯ ดังนั้นการตรวจสอบและแก้ไขสิ่งที่บกพร่องและไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐาน ISO 14001 จึงเป็นเพียงกระบวนการแก้ไขและปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับข้อกำหนดเท่านั้น
     
  5. การทบทวนการจัดการ เป็นขั้นตอนที่นำผลจากการติดตามตรวจสอบและตรวจพบในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการทำงานมาพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมกับองค์กรและเป็นไปตามข้อกำหนดของระบบมาตรฐาน ISO 14001 ที่กำหนดไว้ โดยขั้นตอนการทบทวนการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรนี้ส่วนใหญ่จะกำหนดให้ EMR นำประเด็นต่างๆ ที่ตรวจพบในระบบทั้งหมดเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในการประชุมเป็นประจำสม่ำเสมอ 

ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามมาตรฐาน TIS 18001

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น มีการใช้แรงงานที่ต้องเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น ความปลอดภัยและสุขภาพของผู้ใช้แรงงานในการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและใส่ใจตลอดเวลาเพราะผลจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือผลของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากจะก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ตนเองแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึง บุตร ภรรยา พ่อแม่พี่น้องอีกด้วย ซึ่งเป็นความสูญเสียที่เกินกว่าที่คาดคิดหรือเรียกกลับคืนมาได้ บางครั้งอุบัติเหตุยังทิ้งร่องรอยของความขมขื่นเอาไว้อีกตลอดชีวิต เช่น ความพิการ ความเจ็บปวดทรมาน บางธุรกิจอุตสาหกรรม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอาจหมายถึงความสิ้นเนื้อประดาตัวไม่เพียงแต่ขององค์กร ยังมีผลต่อสภาพแวดล้อมและสังคมโดยรอบอีกด้วย เช่น ไฟไหม้ โรงงานระเบิด พนักงานและชุมชนโดยรอบได้รับสารอันตราย ซึ่งอาจถึงแก่ชีวิตได้
กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กำหนดอนุกรมมาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (มอก.18000) ขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่างๆนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้มิได้มีจุดมุ่งหมายเพียงการแก้ไขปัญหาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังครอบคลุมถึงแนวทางในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ และอุบัติเหตุต่างๆต่อผู้ปฏิบัติงาน และสังคมโดยรอบ ทั้งในองค์กรเองและภายนอกองค์กรหรือชุมชนใกล้เคียง
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามอนุกรมมาตรฐาน มอก.18000 นอกจากจะกำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในองค์กรแล้ว ยังใช้เป็นข้อกำหนดในการตรวจประเมิน เพื่อให้การรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กรอีกด้วย
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational health and safety management system standards) ตามอนุกรมมาตรฐาน มอก.18000 นี้ กำหนดขึ้นโดยใช้ BS 8800 : Guide to occupational health and safety (OH&S) management systems เป็นแนวทาง และอาศัยหลักการของระบบการจัดการตามอนุกรมมาตรฐาน มอก. 9000/ISO 9000 และมอก. 14000/ISO 14000 เพื่อให้ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเข้ากันได้กับระบบการจัดการอื่นๆ ขององค์กร
อนุกรมมาตรฐาน มอก.18000 แบ่งออกเป็น 2 เล่ม ดังนี้
  1. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัด การอาชีวอนามัยและความปลอดภัย:ข้อกำหนด ตามมาตรฐานเลขที่ มอก. 18001-2542 (Occupational health and safety management system : specification)
  2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย:ข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับหลักการระบบและเทคนิคในทางปฏิบัติ ตามมาตรฐานเลขที่มอก. 18004 (Occupational health and safety management systems : general guidelines on principle, systems and supporting techniques)
วัตถุประสงค์ของมาตรฐานนี้ กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยขององค์กรและพัฒนาปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ คือ
  1. ลดความเสี่ยงต่ออันตรายและอุบัติเหตุต่างๆของพนักงานและผู้เกี่ยวข้อง
  2. ปรับปรุงการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัย
  3. ช่วยสร้างภาพพจน์ความรับผิดชอบขององค์กรต่อพนักงานภายในองค์กร ต่อองค์กรเอง และต่อสังคม
 ขั้นตอนหลักในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ขั้นตอนหลักในการจัดทำระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
1. การทบทวนสถานะเริ่มต้น
องค์กรจะต้องพิจารณาทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีอยู่ เพื่อทราบสถานภาพปัจจุบันขององค์กร โดยมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดขอบเขตของการนำเอาระบบการจัดการไปใช้และเพื่อใช้ในการวัดผลความก้าวหน้า
2. นโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรจะต้องกำหนดนโยบายและจัดทำเป็นเอกสารพร้อมทั้งลงนามเพื่อแสดงเจตจำนงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย แล้วมอบหมายให้มีการดำเนินการตามนโยบายพร้อมทั้งจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในการดำเนินการ ต้องให้พนักงานทุกระดับเข้าใจนโยบาย ได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมและมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบรวมทั้งส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการจัดการ
3. การวางแผน
มีการชี้บ่งอันตรายและประเมินความเสี่ยง รวมทั้งชี้บ่งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อใช้ในการจัดทำแผนงานควบคุมความเสี่ยงการวัดผลและการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้อย่างเหมาะสมพร้อมทั้งกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้ถูกต้องทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร
4. การนำไปใช้และการปฏิบัติ
องค์กรต้องนำแผนงานที่กำหนดไว้มาปฏิบัติโดยมีผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้รับผิดชอบโครงการจัดให้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้มีความรู้และความสามารถที่เหมาะสมและจำเป็น จัดทำและควบคุมเอกสารให้มีความทันสมัย มีการประชาสัมพันธ์เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ทุกคนในองค์กรตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกัน ให้ความสำคัญและร่วมมือกันนำไปใช้ปฏิบัติพร้อมทั้งควบคุมการปฏิบัติให้มั่นใจว่ากิจกรรมดำเนินไปด้วยความปลอดภัยและสอดคล้องกับแผนงานที่วางไว้รวมถึงมีการเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น
5. การตรวจสอบและแก้ไข
ผู้บริหารขององค์กรต้องกำหนดให้มีการตรวจติดตามผลการปฏิบัติงานเป็นระยะๆโดยการตรวจประเมิน เพื่อวัดผลการปฏิบัติและหาข้อบกพร่องของระบบ แล้วนำไปวิเคราะห์หาสาเหตุและทำการแก้ไข แล้วบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
6. การทบทวนการจัดการ
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจะต้องกำหนดให้มีการทบทวนระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จากผลการดำเนินงาน ผลการตรวจประเมินรวมทั้งปัจจัยต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป นำมาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องและกำหนดแผนงานในเชิงป้องกัน
การนำมาตรฐานไปใช้
การนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ปฏิบัติงานและประการสำคัญคือ ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุภายในองค์กร ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความห่วงใยขององค์กรที่มีต่อพนักงาน นำไปสู่ความมั่นใจในการทำงาน เสริมสร้างคุณภาพขององค์กร อันก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อองค์กรคู่แข่งในตลาดการค้าและเป็นผู้นำในวงการธุรกิจระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยนี้สามารถนำมาใช้ได้กับการจัดการขององค์กรไม่ว่าประเภทหรือขนาดใดๆ การนำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยไปใช้ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั้น ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้
  1. ผู้บริหารระดับสูงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจแน่วแน่ในการนำระบบมาใช้และให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
  2. ทุกคนในองค์กรมีความเข้าใจ ให้ความสำคัญ มีส่วนร่วมและให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง
  3. ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ
  4. มีการติดตามและปรับปรุงระบบการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ที่จะได้รับ
  1. รักษาและป้องกันชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุอันอาจเกิดขึ้นในองค์กร
  2. เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอุบัติเหตุ และภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสียหาย และความสูญเสียทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน
  3. ลดรายจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากอุบัติเหตุลดลง
  4. สร้างขวัญและกำลังใจแก่พนักงานให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อชีวิตการทำงานในองค์กร ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการผลิต
  5. ได้รับเครื่องหมายรับรองฯ โดยองค์กรที่นำมาตรฐาน มอก.18001 ไปปฏิบัติสามารถขอให้หน่วยงานรับรองให้การรับรองระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถนำไปใช้ในการโฆษณา และประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรให้ดียิ่งขึ้นและเป็นที่ยอมรับในสังคม
  6. เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การแข่งขันทางด้านการค้าในตลาดโลก





แหล่งที่มา:Patarapong Logistics Co.,Ltd.







<< ย้อนกลับ >>
 

 
         
  © 2009 Patarapong Logistics Co., Ltd. All Rights Reserved. HomelServices & SafetylActivitieslNewslContact Us Created & Powered by FOD Team.