|
 |
 |
|
|
ทุกฝ่ายโล่ง5 เม.ย. ไฟฟ้าไม่ดับ |
|
ภาคอุตสาหกรรมคลายกังวล 5 เม.ย.ไม่มีไฟฟ้าดับ หลังทราบมาตรการรับมือที่แน่ชัดจาก"พงษ์ศักดิ์"มีภาคเอกชนให้ความร่วมมือถึง 61 บริษัท และนิคมอุตสาหกรรมอีก 19 แห่ง ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 491 เมกะวัตต์ และหากประชาชน ศูนย์การค้า ร่วมประหยัดไฟได้อีก 500 เมกะวัตต์ ส่งผลปริมาณสำรองพุ่งเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ ด้านพีทีทีจีซี พร้อมเสนอขายไฟฟ้าให้ 50 เมกะวัตต์ หากกฟผ.ต้องการ ยันไม่กระทบผลิตปิโตรเคมี นายณรงค์ บัณฑิตกมล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจอะโรเมติกส์ บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.พีทีทีจีซี และในฐานะรองผู้อำนวยการสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการหารือกับนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ภาคเอกชนคลายกังวลกับวิกฤติพลังงานที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 เมษายน ว่าจะไม่มีไฟฟ้าดับเกิดขึ้น หลังจากทราบมาตรการรับมือที่แน่ชัดจากการร่วมมือของทุกภาคส่วน "โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก ได้ให้ความร่วมมือที่จะลดใช้ไฟฟ้าลงในช่วงดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 43 ราย ในจำนวน 61 บริษัท คิดเป็นประมาณไฟฟ้าที่ประหยัดได้ 408 เมกะวัตต์ แยกเป็น 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็กลดการใช้ไฟฟ้า 137.14 เมกะวัตต์ ปูนซีเมนต์ 126 เมกะวัตต์ ปิโตรเคมี 68.11 เมกะวัตต์ สิ่งทอ 3.43 เมกะวัตต์ อาหาร 20.97 เมกะวัตต์ แก้วและกระจก 1.27 เมกะวัตต์ ยา 10.5 เมกะวัตต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า 7.1 เมกะวัตต์ เครื่องปรับอากาศ 0.425 เมกะวัตต์ ยานยนต์ 1.18 เมกะวัตต์ หลังคา 1.6 เมกะวัตต์ เฟอร์นิเจอร์ 0.21 เมกะวัตต์ และไฟเบอร์เยื่อไม้ 30 เมกะวัตต์ ซึ่งรูปแบบการลดใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ จะเป็นในเรื่องของการผลิตสินค้าสต๊อกไว้ล่วงหน้า และจะไปหยุดเดินเครื่องจักรสายการผลิตที่ไม่จำเป็นในช่วงวันดังกล่าวแทน" นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ที่แจ้งความประสงค์จะลดการใช้ไฟฟ้าใน 19 นิคมอุตสาหกรรม คิดเป็นไฟฟ้าที่ลดลงได้ 83 เมกะวัตต์ เพียงเท่านี้ก็ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าเข้าสู่ภาวะปกติเกินจุดวิกฤติก่อนหน้านี้ที่มีเพียง 767 เมกะวัตต์ ซึ่งยังไม่รวมการลดจ่ายไฟฟ้าให้กับ 4 โรงงาน ในปริมาณ 56 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็กหรือเอสพีพีอีก 110 เมกะวัตต์ หากรวมปริมาณสำรองไฟฟ้าทั้งหมดแล้วจะเพิ่มเป็น 1.424 พันเมกะวัตต์ ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจากชีวมวลที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ก็พร้อมที่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าขายให้ หากมีการเรียกขอมา ที่สำคัญหากมาตรการรณรงค์ให้ประชาชนและศูนย์การค้าลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงบ่ายของวันที่ 5 เมษายน 2556 นี้ได้อีกกว่า 500 เมกะวัตต์ เหมือนกับช่วงวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 515 เมกะวัตต์ ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองทั้งหมดได้ถึงเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ จึงทำให้ภาคการผลิตเกิดความมั่นใจว่าวิกฤติพลังงานที่จะมาถึงไม่เกิดขึ้น นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินงานของ บมจ.พีทีทีจีซี ในการช่วยเสริมระบบไฟฟ้าทางหนึ่ง อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะเตรียมจ่ายไฟฟ้าของตัวเองที่มีอยู่เพิ่มขึ้นอีก 20-50 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)อยู่ 33 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ไฟฟ้าที่จะขายเพิ่มส่วนหนึ่งจะมาจากการประหยัดพลังงานและปริมาณสำรองไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 22 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรง,ขนาด 35 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรง ,ขนาด 37.5 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรง และเครื่องผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำอีก 35 เมกะวัตต์ ใช้ในโรงงานปิโตรเคมีเอง 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขายให้กับกลุ่มลูกค้าพื้นที่ใกล้เคียงและกันไว้เป็นปริมาณสำรอง
ดังนั้นหาก กฟผ. แจ้งว่าต้องการไฟฟ้าเพิ่ม บริษัทก็ยินดีให้ความร่วมมือ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของบริษัทและลูกค้าอย่างแน่นอน เพราะยังสามารถเดินเครื่องจักรที่มีความสำคัญตลอด 24 ชั่วโมงได้อยู่ ส่วนเครื่องจักรที่สามารถหยุดเดินเครื่องได้ก็จะหยุด เบื้องต้นบริษัทจะเร่งผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อเก็บไว้ในสต๊อกเพิ่มขึ้น
แหล่งที่มา: www.thanonline.com
|
|
<< ย้อนกลับ >> |
|
|
|
 |
|