|
|
|
|
|
ท่าทีภาคธุรกิจ-นักวิชาการกับนโยบายค่าแรง |
|
หลังจากที่รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ประกาศสัญญาจะดำเนินนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ประเด็นคำถามที่ถาโถมเป็นระลอกเกี่ยวกับนโยบายกับปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมหลายภาคส่วนถือว่าเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ล่าสุด สถาบันปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศจึงได้ร่วมกับ บมจ. ซีพี ออลล์ จัดงานเสวนาพิเศษภายใต้หัวข้อ "การปรับตัวของภาคธุรกิจในยุครัฐบาลใหม่" (ภายใต้นโยบายหาเสียงเกี่ยวกับแรงงาน) โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก 3 ภาคส่วนโดยมีรศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ,ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และซีอีโอ-ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ มาร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ++แนะไทยใช้นโยบายการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ต่อเรื่องนี้ " รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์" อธิการบดี สถาบันการจัดการ ปัญญาภิวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การจ่ายค่าจ้างแรงงานต่ำจนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น หรือประเด็นย้ายแรงงานเข้ามาแทนที่จะย้ายอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันพบว่าแรงงานประมาณ 2-3ล้านคนมาจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่จีน อีกทั้งก่อนหน้านี้ไทยได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)โดยแยกออกเป็น 3 โซน ประกอบไปด้วย โซน 1.กรุงเทพฯและปริมณฑล ,โซน 2.จังหวัดที่มีตัวเมืองอยู่ห่างกรุงเทพฯไม่เกิน 150 กิโลเมตร และโซนที่ 3.คือส่วนที่เหลือทั้งหมด แม้ที่ผ่านมาได้พยายามส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง แต่ผลปรากฏว่าอุตสาหกรรมไปได้เพียงแค่ขอบของรอยต่อของโซน 2 และโซน 3 เช่น ระยอง หลังจากนั้นก็จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในกรุงเทพฯเกือบทั้งหมดจากทั่วทุกภาคของประเทศ และแนวโน้มต่อไปจำนวนแรงงานจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 6-7 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของประชากรไทย ซึ่งประเด็นปัญหารูปแบบอื่นจะตามมาอีกจำนวนมาก ดังนั้น ประเทศไทยควรจะต้องแก้ไขปัญหาแรงงานแบบเป็นแพ็กเกจในการรองรับประชาคมอาเซียน หรือความคาดหวังที่ไทยจะเป็นศูนย์กลาง(HUB)ระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยต้องมีนโยบายที่ชัดเจน รวมถึงการบริหารจัดการประเทศที่ถูกต้อง และได้บุคลากรที่มีความสามารถ โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์เข้ามาบริหารจัดการ ++ค่าจ้างปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพ ด้าน "ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์" ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) กล่าวว่า โดยหลักการหลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลต่อราคาสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ายังไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 300 บาทแต่ สินค้าบางชนิดได้มีการปรับราคาขึ้นตามไปแล้ว "สรุปคือค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเพียงพอต่อค่าครองชีพ และเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่กลับมีข้ออ้างไม่ปรับค่าแรงเป็นเวลาต่อเนื่อง 10 ปี จึงมีการสะสมมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ทำให้ช่องว่างห่างกันมาก" ขณะนี้ประเทศไทย คือประเทศที่มีคนว่างงานต่ำที่สุดในโลกคือไม่ถึง 1% แต่ในจำนวน1% นั้น เป็นคนที่ว่างงานระดับปริญญาตรีประมาณ 140,000 คน หากหมุนเวียนเข้าออกจะเหลือประมาณ 100,000 คน โดยไตรมาสที่ผ่านมาเหลือ 90,000 กว่าคน สำหรับคนระดับปริญญาตรีที่ว่างงานอยู่แล้วจะหางานทำได้ยากขึ้น เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการต้องพิจารณาปริญญาตรีมากขึ้น ขณะที่ความต้องการแรงงานประมาณ 200,000 คนจะเป็นแรงงานระดับมัธยม หรือต่ำกว่าแต่ตลาดกลับผลักดันให้คนจบปริญญาตรี ++ปรับเงินเดือนพ่วงการปรับตัว ขณะที่ " ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวยอมรับว่าทุกอุตสาหกรรมจะต้องมีการปรับตัว ทั้งเรื่องค่าจ้างแรงงาน รวมถึงต้องมีการปรับเรื่องเทคโนโลยีให้มีคุณภาพ เพื่อผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพ เพราะโลกต่อไปจะต้องดำเนินไปในรูปแบบดังกล่าว นอกจากกลุ่มแรงงานแล้ว หากมองในเชิงของการบริหารจัดการนั้น กลุ่มบุคคลเช่น นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งได้รับเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาท ขณะที่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้รับเงินเดือน 6.3 ล้านบาท ส่วนระดับรองลงมาของไทยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์จะเห็นว่าไทยได้รับเงินเดือนต่ำกว่ามาก โดยเปรียบเทียบประเด็นดังกล่าวแสดงว่านายกฯไทยหรือระดับรองมีคุณภาพต่ำกว่าหรือไม่ "ผมต้องการชี้แนะว่าการบริหารจัดการของประเทศทั้งประเทศยังคงมีความบกพร่องอย่างมากที่มีข้าราชการระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นอธิบดี หรือปลัดกระทรวงเงินเดือนต่ำ ฉะนั้นจะต้องมีการปรับตัว โดยเมื่อเพิ่มเงินเดือนแล้วก็จะต้องมีการปรับตัวเรื่องเทคโนโลยี อย่ายึดติดกับกำไรของเอสเอ็มอีทุกระดับ ที่มีฐานะเป็นคหบดีของจังหวัดแต่ใช้แรงงานราคาถูกมาทำงานไปตลอด ต้องอย่ารีดผลกำไรจากช่องทางดังกล่าวไปตลอดชีวิต แหล่งข้อมูล:จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษกิจ |
|
<< ย้อนกลับ >> |
|
|
|
|
|