ลิเบียอาจกลับมาผลิตน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกได้ภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ หลังจากกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกำลังเข้าใกล้ชัยชนะ แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกถึงกว่าหนึ่งปีก่อนลิเบียจะกลับมาผลิตน้ำมันได้ในระดับการผลิตก่อนเกิดสงคราม ด้านสมาชิกโอเปกยังคงจับตามองสถานการณ์ในลิเบียก่อนตัดสินใจว่าจะปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตหรือไม่
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เมื่อความรุนแรงปะทุขึ้นในลิเบีย ก่อนการเกิดสงครามกลางเมือง ลิเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งน้ำมันจำนวนดังกล่าวออกนอกประเทศเกือบทั้งหมด โดยคิดเป็นประมาณ 2% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก อย่างไรก็ดี ในช่วง 6 เดือนที่อยู่ภายใต้ภาวะสงคราม กำลังการผลิตน้ำมันในลิเบียลดลงเหลือเพียง 5 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น
ที่ปรึกษาและผู้บริหารในอุตสาหกรรมน้ำมันเชื่อว่า การล่มสลายของระบอบการปกครองของพ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่คงอยู่มาเป็นเวลา 41 ปี อาจส่งผลให้ลิเบียผลิตน้ำมันได้ในอัตรา 3 แสนบาร์เรลต่อวันในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจากบ่อน้ำมันทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายกบฏตั้งแต่เริ่มสงครามกลางเมือง รวมถึงจากบ่อน้ำมันบริเวณทะเลทรายทางตะวันตกเฉียงใต้ แต่การเพิ่มกำลังการผลิตให้กลับสู่ระดับก่อนสงครามจะต้องใช้เวลาเป็นปี
ทอม โคลซา หัวหน้านักวิเคราะห์น้ำมันจากออยล์ ไพรซ์ อินฟอร์เมชัน เซอร์วิส ให้ความเห็นว่า ผู้ค้าหลายคนในตลาดน้ำมันคิดผิดไปเองว่าการโค่นล้ม พ.อ.กัดดาฟีจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของซัพพลายน้ำมันในตลาดโลกในทันที "ความเป็นจริงคือ คุณต้องมีสาธารณูปโภคและทุกอย่างที่มาพร้อมกับรัฐบาลที่สามารถทำงานได้เพื่อให้สิ่งต่างๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม คุณไม่มีบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ลิเบียอีกแล้ว คุณต้องทำให้ท่อส่งและสถานที่เก็บน้ำมันกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง คุณต้องมีบริษัทน้ำมันกลับเข้ามาดำเนินการอีกครั้ง และพวกเขาจำเป็นต้องรู้ว่ามันปลอดภัย" โคลซา กล่าว
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตามรายงานที่ได้รับจากลิเบีย พวกเขาเชื่อว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นกับท่อส่งน้ำมันบางส่วน และอาจรวมถึงโรงกลั่นด้วย แม้ว่าความรุนแรงของความเสียหายจะต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้ทราบแน่ชัดต่อไป นอกจากนี้ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ความท้าทายในการจัดตั้งรัฐบาลของกลุ่มกบฏที่มาจากกลุ่มคนหลายกลุ่มที่มีแนวคิดแตกต่างกัน แต่มารวมตัวกันเพื่อต่อต้านพ.อ.กัดดาฟี นักวิเคราะห์กังวลว่า เมื่อไม่มีศัตรูคนเดียวกันให้ต่อสู้ กลุ่มกบฏอาจแตกแยกและไม่สามารถบริหารประเทศได้
เหตุการณ์ในอดีตที่นำไปสู่การหยุดชะงักของการผลิตน้ำมันดิบ ตั้งแต่ประเทศอิหร่านหลังจากการปฏิวัติอิสลามในปี 2522 ไปจนถึงประเทศเวเนซุเอลาหลังจากเกิดการประท้วงเรื่องน้ำมันในปี 2545-2546 แสดงให้เห็นว่าการผลิตน้ำมันใช้เวลานานกว่าจะกลับมาสู่ระดับปกติ อย่างในประเทศอิรัก แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันจะไม่เกิดความเสียหายจากการเข้าโจมตีของสหรัฐอเมริกาในปี 2546 แต่กำลังการผลิตเพิ่งกลับคืนสู่ระดับปกติก่อนเกิดสงครามในปี 2551
อย่างไรก็ดี ด้วยราคาน้ำมันที่สูงเกินกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เงินอุดหนุนเพื่อช่วยให้การผลิตกลับมาทำได้อย่างเต็มกำลังจะมีเข้ามามากจนทำให้รัฐบาลใหม่และบริษัทต่างชาติจะทำงานอย่างหนักเพื่อเร่งกำลังการผลิต
ด้านสมาชิกหลักของกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่าได้เตรียมมาตรการรับมือในการปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตของตนเองเพื่อรองรับการกลับคืนมาของซัพพลายน้ำมันดิบจากลิเบีย แม้ว่าจะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็ตาม "ถ้าซัพพลายจากลิเบียกลับสู่ตลาด และเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดขึ้น ซาอุดีอาระเบียจะลดกำลังการผลิต มันเป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน" เจ้าหน้าที่ทางการของซาอุดีอาระเบียกล่าว
ซาอุดีอาระเบียให้คำมั่นในเดือนมิถุนายนว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมากถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันในระดับเฉลี่ย 9.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการผลิตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ. 1980 เมื่อครั้งที่อิหร่านเกิดการปฏิวัติ ตามมาด้วยสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรักจนทำให้กำลังการผลิตในอิหร่านหยุดชะงักไป
โอเปกได้ปรับกำลังการผลิตเมื่อกำลังการผลิตน้ำมันของอิรักเพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลของนายซัดดัม ฮุสเซ็น ล่มสลาย และเมื่อครั้งที่กำลังการผลิตของรัสเซียเพิ่มขึ้นภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่โอเปกกล่าวว่า พวกเขาจะรักษาความยืดหยุ่นเช่นนี้เอาไว้ แต่คาดหมายว่าเหตุการณ์ในลิเบียจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะสั้นเท่านั้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล:จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,664 25- 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554