|
|
|
|
|
นับถอยหลัง แท็บเลต ป.1 เมดอินไชน่า |
|
ภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" อีกไม่นานเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ของไทย จำนวนกว่า 8 แสนเครื่อง จะกลายเป็นหนึ่งในประชากร "แท็บเลต" ที่คาดว่าปีนี้จะมีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 60 ล้านคน ซึ่งขณะนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือไอซีที และกระทรวงศึกษาธิการ ต่างกำลังเร่งเครื่องโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเลตต่อ 1 นักเรียน เพื่อดำเนินการจัดซื้อให้ทันเปิดภาคเรียนใหม่เดือนพฤษภาคม 2555 -เดินเครื่องจัดซื้อจีทูจี โครงการดังกล่าวเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นหนึ่งในประชานิยมของพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าทำแน่ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 มีมติมอบหมายให้กระทรวงไอซีที เป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อแท็บเลต ภายใต้นโยบายจัดซื้อแบบจีทูจีกับรัฐบาลจีน ภายหลังจากที่นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีน เดินทางมาไทยและลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ หลังจากมีมติดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเลตต่อ 1 นักเรียน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 ก็รับลูกให้กระทรวงไอซีที เป็นผู้ดำเนินการจัดหาแท็บเลตเด็กป.1 และให้ดำเนินการจัดหาให้ครบตามจำนวนเด็กป. 1 ทั้งหมด 847,000 คน รวมถึงให้กระทรวงไอซีทีเป็นผู้เบิกจ่ายงบประมาณจำนวน 1,900 ล้านบาท แทนกระทรวงศึกษาธิการ -4บริษัทจีนร่วมประมูล จากนั้นกระบวนการจัดหาก็ดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 1 มีนาคม 2555 กระทรวงไอซีที ออกมาประกาศรายชื่อผู้ผลิตแท็บเลตที่จีนเสนอมา 4 รายประกอบด้วย บริษัท หัวเหว่ย ดีไวซ์ จำกัด ผู้ผลิตแท็บเลตแบรนด์ "มีเดียแพด", บริษัททีซีแอล คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ผู้ผลิตแท็บเลตแบรนด์"โอเพ่นแพด",บริษัทไห่เอ๋อ กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตแท็บเลตแบรนด์ "ไห่แพด" และบริษัทเซินเจิ้น สโคป ไซทิฟิค ดิเวลลอปเม้นต์ จำกัด หรือ"สโคป" ผู้ผลิตแท็บเลตแบรนด์ "สโคแพด" -สโคปได้คะแนนอันดับหนึ่ง ต่อมาคณะกรรมการจัดหาแท็บเลตกระทรวงไอซีที ได้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อดูความพร้อมของโรงงาน ตรวจสอบคุณสมบัติการทำงานของเครื่อง พร้อมเจรจารายละเอียดของคุณสมบัติเครื่องแท็บเลต และราคากับทั้ง 4 โรงงาน ในวันที่ 2 - 3 มีนาคมที่ผ่านมา สุดท้ายได้นำเสนอผลการตรวจสอบต่อคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเลตต่อ 1 นักเรียน โดยให้ สโคป ได้รับคะแนนสูงสุด คือ 235 คะแนน เพราะเสนอราคาต่ำสุดเครื่องละ 81 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,430 บาท (คิดที่ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่วนอันดับ 2 คือ ทีซีแอล ซึ่งได้คะแนน 230 คะแนน เสนอราคาเครื่องละ 89 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 2,759 บาท ส่วนไห่เอ๋อ และหัวเหว่ย ได้คะแนนเท่ากัน คือ 200 คะแนน โดยไห่เอ๋อ เสนอราคาเครื่องละ 103 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 3,193 บาท และหัวเหว่ย เสนอราคาเครื่องละ 135 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 4,185 บาท ตามแผนของกระทรวงไอซีที นั้นคาดว่าจะนำผลสรุปดังกล่าวนำเสนอต่อ ครม.ในวันที่ 6 มีนาคม 2555 เพื่อพิจารณา และตัดสินใจเลือกผู้ผลิตแท็บเลตรายที่เหมาะสม แต่ท้ายสุดแล้วไม่มีการนำเสนอเข้า ครม. ต่อเรื่องนี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าสาเหตุที่ยังไม่มีการนำเสนอผลสรุปการคัดเลือกแท็บเลตสำหรับเด็กประถมปีที่ 1 เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นที่สนใจของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างจะต้องทำด้วยความถูกต้องและโปร่งใส โดยขณะนี้ยังดำเนินการภายใต้กรอบการจัดหาแบบจีทูจี กับรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการจัดหาและอยู่ภายใต้กรอบระยะที่สามารถส่งมอบแท็บเลตได้ทันปีการศึกษาใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2555 "ผู้ที่จะทำหน้าที่ตัดสินใจเลือกผู้ผลิตรายใดอยู่ที่คณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์แท็บเลตต่อ 1 นักเรียน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ได้รับมอบอำนาจจาก ครม. โดยจะมีการตัดสินเลือกในวันที่ 14 มีนาคม 2555 ก่อนจะรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป ซึ่งกระบวนการจัดหาทั้งหมดจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน" -ตั้งคำถามคุณภาพ-บริการ อย่างไรก็ตามโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเลตต่อ 1 นักเรียนประเด็นสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นผู้ชนะโครงการนี้ เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์ชัดเจน คือ รัฐบาลกับเอกชนจีน แม้ศักยภาพของโรงงานผลิตจากจีน สามารถช่วยให้เด็กไทยสามารถใช้แท็บเลตในราคาถูกได้ก็ตาม แต่ในเรื่องของคุณภาพและการให้บริการหลังการขายก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามของหลายคนอยู่ ในเรื่องของคุณภาพนั้นจริงอยู่ที่จีนเป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์ไอทีใหญ่สุดในโลก เพราะมีความพร้อมด้านซัพพลายเชนและต้นทุนต่ำ แม้แต่แท็บเลตแบรนด์ดังของโลกยังจ้างโรงงานจีนเป็นผู้ผลิต แต่ผู้ผลิตชื่อดังมีกระบวนการคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ มีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ โดยมีแบรนด์ของตัวเองเป็นตัวการันตี ต่างจากโรงงานผลิตทั้ง 4 ราย ซึ่งแม้จะมีประสบการณ์ผลิตแท็บเลตจำหน่ายในจีนและบางประเทศ แต่ด้วยราคาเครื่องที่ต่ำเมื่อเทียบกับสเปก จะสามารถผลิตสินค้าคุณภาพดีได้หรือไม่ ซึ่งแม้แต่บริษัทจีนด้วยกันเองยังตั้งคำถามในเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับบริการหลังการขาย หากพิจารณาจากประวัติการดำเนินธุรกิจในไทยของทั้ง 4 บริษัทที่ได้รับคัดเลือกแล้วไม่มีเครือข่ายการให้บริการในไทย โดยค่ายหัวเหว่ยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจโทรคมฯในไทย เริ่มเข้ามาเปิดตลาดแท็บเลตเมื่อต้นปีนี้ ขณะที่ไห่เอ๋อและทีซีแอลนั้นอาจจะคุ้นเคยในฐานะผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดแท็บเลตในไทย เช่นเดียวกับสโคป ที่อาจเป็นที่รู้จักในจีน แต่ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดไทยในช่วงที่ผ่านมา นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัญหาที่กังวลขณะนี้ คือ ด้วยระดับราคาที่รัฐบาลต้องการนั้นอาจเป็นผลทำให้ผู้ผลิตลดคุณภาพวัสดุที่ใช้ในการผลิตลงมาเพื่อให้ได้ราคาตามที่ต้องการ แต่ปัญหาคืออุปกรณ์ดังกล่าวนั้นเด็กมีการใช้ทุกวัน หากคุณภาพต่ำ มีปัญหาการใช้งานแล้วบริษัทต้องแบกรับภาระในการรับประกันนาน 2 ปี กับโครงการที่มีปริมาณจัดซื้อสูงขนาดนี้ ก็มีความเสี่ยงหรือถ้าหากโรงงานผลิตที่ได้โครงการนี้ไปแล้ว แต่ไม่มีออฟฟิศในไทยเวลาเครื่องมีปัญหาใครจะเป็นผู้ดูแล" ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงไอซีที ย้ำว่าในเรื่องของคุณภาพและบริการนั้นผู้ผลิตจะต้องดำเนินการตามสัญญา หรือทีโออาร์ ที่กำหนด ซึ่งหากตัวเครื่องเกิดปัญหาผู้ผลิตที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด -คอนเทนต์ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้โครงการดังกล่าวจะเกิดความยั่งยืนได้ และก่อให้เกิดการบูรณาการการศึกษาจริงๆ คงไม่ใช่เรื่องของฮาร์ดแวร์ แต่เป็นเรื่องของเนื้อหา ที่จะเข้ามาช่วยให้เด็กสามารถใช้แท็บเลตให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางด้านการศึกษา โดยในส่วนเนื้อหานั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีแผนบรรจุเนื้อหาการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ 360 หน่วยการเรียนรู้ ครอบคลุม 5 รายวิชา ลงในแท็บเลต นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า ยังได้เตรียมพัฒนาคลังที่รวบรวมแอพพลิเคชันและเครื่องมือต่าง ๆ ในการใช้งานสำหรับโครงการแท็บเลต ป.1 ของรัฐบาล ภายใต้ชื่อ เอ็ดดูแท็บเลต สโตร์ ขึ้นมา โดยจะเปิดให้นักพัฒนาที่มีความสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาแอพพลิเคชันและคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาเพื่อให้นักเรียนมีคอนเทนต์ที่หลากหลาย และให้การใช้งานแท็บเลตมีคุณภาพมากขึ้น ในการพัฒนาเนื้อหานั้นคงไม่ใช่เพียงแค่แปลงตำราเรียนมาอยู่ในรูปของอี-บุ๊กเท่านั้น เพราะก็คงไม่ต่างอะไรจากการเรียนจากตำราเรียนแบบเดิม แค่ควรเป็นเนื้อหาที่มี ทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียง ซึ่งอาจเป็นการ์ตูนแอนิเมชันเพื่อดึงดูดความสนใจให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้นและเกิดความสนุกสนานกับการเรียน หรือมีเนื้อหาที่เสริมตำราเรียนเดิม เป็นแอนิเมชันให้เด็กตอบคำถาม หรือค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราเรียนเดิม เช่นเดียวกับการบริหารจัดการการเรียนการสอนผ่านแท็บเลต ทั้งซอฟต์แวร์ติดตามการใช้งานแท็บเลตของเด็ก หรือ ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ครูสามารถโต้ตอบกับเด็ก นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความพร้อมของครู ป.1 ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพนั้น อาจต้องรอผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบ ทั้ง สายตาเสีย สูญเสียประสาทสัมผัส ในโรงเรียนนำร่องใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ โรงเรียนราชวินิต กทม. โรงเรียนอนุบาลลำปาง จ.ลำปาง โรงเรียนอนุบาลพังงา จ.พังงา และโรงเรียนสนามบิน จ.ขอนแก่น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปราวเดือนเมษายน 2555 นี้ สังคมคงต้องติดตามและจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลประกาศอย่างสวยหรูจะยกระดับเด็กไทยไม่ให้แพ้ต่างชาติ แต่สุดท้ายจะเป็นเพียงแค่กระบวนการขายสินค้าราคาถูกที่สมประโยชน์ระหว่างพ่อค้าจีนกับนักการเมืองไทยโดยเอาเยาวชนในชาติมาเป็นเครื่องมือหากินหรือไม่
แหล่งที่มา:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,722 15-17 มีนาคม พ.ศ. 2555 |
|
<< ย้อนกลับ >> |
|
|
|
|
|