|
|
|
|
|
ซัมซุงพ่ายคดีสิทธิบัตรต่อแอปเปิล |
|
คำตัดสินของศาลในสหรัฐอเมริกาว่าซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรสมาร์ทโฟนบางรายการของแอปเปิล อาจกลายเป็นแรงกดดันในวงกว้างต่อทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้บริโภคที่อาจจะต้องแบกรับภาระเรื่องราคาเพิ่มขึ้น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะลูกขุนของศาลในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (24 ส.ค.) ว่าซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรจำนวน 6 จาก 7 รายการของแอปเปิลที่ถูกนำขึ้นไต่สวน โดยในจำนวนดังกล่าวมีสิทธิบัตรเกี่ยวกับฟังก์ชันการใช้นิ้วซูมหรือขยายภาพ (พินช์แอนด์ซูม) บนหน้าจอแบบทัชสกรีนรวมอยู่ด้วย คณะลูกขุนตัดสินให้ซัมซุงจ่ายค่าเสียหายให้กับแอปเปิลเป็นเงิน 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 3.2 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีดังกล่าวยังมีอำนาจในการเพิ่มเงินค่าเสียหายขึ้นอีก 3 เท่าตัวเป็นกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากพบว่าซัมซุงจงใจละเมิดสิทธิบัตร และกำลังพิจารณาคำร้องของแอปเปิลในการสั่งห้ามซัมซุงจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการละเมิดสิทธิบัตร อย่างไรก็ดี ซัมซุงมีแผนจะอุทธรณ์ผลการตัดสินของคณะลูกขุนบิล ฟลอรา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัทออกแบบชื่อ เทคโทนิค ยอมรับว่าผลคำตัดสินมีทั้งความรู้สึกในแง่บวกและลบ ในทางหนึ่งผลการตัดสินครั้งนี้จะบีบให้บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โมบายให้ความสำคัญกับการดีไซน์มากขึ้นแทนที่จะนำไอเดียของคนอื่นมาใช้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจกลายมาเป็น "กับระเบิด" ของผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่จะคอยกังวลว่าฟังก์ชันที่ออกแบบมานั้นจะไปละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่นหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ฟังก์ชันพินช์แอนด์ซูมที่กลายมาเป็นฟังก์ชันทั่วไปของอุปกรณ์หน้าจอทัชสกรีนไปแล้ว ถ้าไม่มีฟังก์ชันดังกล่าวก็อาจเหมือนรถยนต์ที่มีพวงมาลัยสี่เหลี่ยม เป็นต้น ขณะที่ชาร์ลี คินเดล อดีตผู้บริหารของไมโครซอฟท์ เชื่อว่าคำตัดสินไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อซัมซุงหรือผู้ผลิตรายอื่นๆ มากนัก อย่างไรก็ตามคินเดลกังวลว่าตลาดอุปกรณ์โมบายอาจจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ปัจจุบันนักพัฒนาซอฟต์แวร์มีอุปกรณ์หลายระบบที่ต้องออกแบบแอพพลิเคชันอยู่แล้ว แรงกดดันต่อผู้ผลิตให้ออกแบบอุปกรณ์ที่มีความแตกต่างอาจจะยิ่งทำให้งานของนักพัฒนาลำบากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคอาจเกิดความสับสนว่าโทรศัพท์รุ่นใดมีฟังก์ชันการทำงานอย่างไร และอาจจะยิ่งทำให้การโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์ระบบอื่นเป็นไปได้ยาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทนายความด้านสิทธิบัตรบางรายคาดหมายว่าการตัดสินครั้งนี้จะเป็นการเปิดช่องให้มีการต่อสู้กันในชั้นศาลระหว่างบริษัทเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนสำหรับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเลต และลดจำนวนอุปกรณ์ที่วางขายอยู่ในตลาดลง ทำให้ราคาขายสำหรับผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคอาจจะต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของฟังก์ชันการทำงานที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเลตในอนาคต หรือแม้แต่ผ่านการอัพเดตของอุปกรณ์ซัมซุงและแบรนด์อื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยซอฟต์แวร์แอนดรอยด์ของกูเกิลอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อช่วยไม่ให้ซัมซุงประสบปัญหาทางกฎหมาย "คนที่ไม่แน่ใจความหมายของผลการตัดสินครั้งนี้อาจจะคิดว่าอุปกรณ์แอนดรอยด์จะใช้ไม่ได้อีกเลย นั่นจะไม่เกิดขึ้น แต่อาจจะกระทบกับการตัดสินใจซื้อในอนาคต" มาร์ค แมคเคนนา ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนอเทอร์เดม ในสหรัฐฯ กล่าว แอปเปิลและซัมซุงกำลังขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในตลาดสมาร์ทโฟน โดยข้อมูลจากไอดีซีระบุว่ในไตรมาส 2 ของปี 2555 ซัมซุงครองตลาดสมาร์ทโฟนด้วยส่วนแบ่ง 32.6% แอปเปิลตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 16.9% และเมื่อรวมผู้ผลิตโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ทั้งหมด สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ครองส่วนแบ่งตลาดถึง 68%
แหล่งที่มา:หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2,770
|
|
<< ย้อนกลับ >> |
|
|
|
|
|